ต้องยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมในการใช้ชีวิตผู้บริโภคผ่านสื่อดิจิทัลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับโลก
หนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อสภาพคล่องทางเศรษฐกิจในปัจจุบันก็คือการเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบของ “อีคอมเมิร์ซ”
กรุ๊ปเอ็ม (GroupM) กลุ่มเอเยนซีผู้เชี่ยวชาญทางด้านบริหารจัดการการลงทุนด้านสื่อชั้นนำระดับโลกในเครือ ดับบลิวพีพี (WPP) ได้ทำการสรุปแนวโน้มการค้นหาข้อมูลออนไลน์ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคบนช่องทางอีคอมเมิร์ซ ผ่านข้อมูลของตลาดยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ และนำมาวิเคราะห์แนวโน้มที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยผ่านบทความนี้
พฤติกรรมการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ผ่านสื่อออนไลน์ถือเป็นอีกหนึ่งในความท้าทายสำหรับนักการตลาด นักโฆษณา รวมถึงผู้ค้าที่จะต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และสภาพตลาดดิจิทัลที่กระโดดเข้ามาร่วมเป็นอีกหนึ่งในผู้เล่นตัวสำคัญผ่านความสะดวกสบาย
จากการสำรวจโดย eMarketer พบว่าภาพรวมการใช้ Search Engine ของฝั่งสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2019 มีการค้นหาข้อมูลผ่าน Search Engine สูงถึง 90.8% ของจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 92.3% ภายในปี 2023
ดิจิทัลเทรนด์ที่กำลังมาแรงในสหรัฐฯ คือ การใช้เสียงค้นหาข้อมูล (Voice Search) และการใช้ภาพค้นหาข้อมูล (Visual Search) จากยอดผู้ใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา การค้นหาข้อมูลด้วยวิธีดังกล่าวยังไม่ได้มุ่งเน้นให้เกิดการซื้อสินค้าในทันทีเมื่อเปรียบเทียบกับการทำ Search Engine Marketing (SEM) ในปัจจุบัน เนื่องจากการใช้เสียงหรือภาพในการค้นหาข้อมูลนั้นส่วนมากทำเพื่อจุดประสงค์ในการหาข้อมูลง่าย ๆ ที่มีคำตอบไม่ซับซ้อน แต่ทั้งหมดนี้ถือเป็นหนึ่งในโอกาสที่แบรนด์จะนำมาปรับใช้ในแง่การให้ข้อมูลสินค้า เพื่อยกระดับอีคอมเมิร์ซให้ไปได้ไกลขึ้นกว่าเดิม
จากการวิเคราะห์ผลสำรวจยังพบสิ่งที่น่าสนใจอีกว่า การค้นหาข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนของฝั่งสหรัฐฯ มียอดผู้ใช้สูงขึ้นจากการตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบายในการใช้งาน แต่คลิกสุดท้ายในการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตของชาวอเมริกัน Desktop ก็ยังคงเป็นคำตอบสุดท้ายที่มีจำนวนสูงกว่าโมบาย
สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย มีมูลค่าภาพรวมอยู่ที่ 1.62 แสนล้านบาทในปี 2019 (หรือคิดเป็น 1.43% ของยอดค้าปลีกทั้งหมดในประเทศ) นับเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 21.79% (จากมูลค่า 1.37 แสนล้านบาทในปี 2018) โดย eMarketer ยังได้คาดการณ์อีกว่าภายในปี 2023 ยอดการใช้จ่ายบนอีคอมเมิร์ซจะทะยานขึ้นสู่ 2.92 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.46% ของยอดค้าปลีกทั้งหมดในประเทศ
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเทรนด์อีคอมเมิร์ซในบ้านเรากลับสวนทางกับฝั่งสหรัฐฯ โดยคนไทยมีแนวโน้มการซื้อสินค้าและบริการอีคอมเมิร์ซผ่านระบบและอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากกว่า ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งทางการซื้อที่มากถึง 73% ในปี 2019 และส่วนแบ่งนี้ยังมีแนวโน้มที่จะไต่ระดับไปสูงขึ้นจนถึง 79.4% ในปี 2023
การเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้ สอดคล้องกับพฤติกรรมปัจจุบันของคนไทย ผ่านการสำรวจของ GlobalWebIndex พบว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยใช้งานเฉลี่ยวันละมากกว่า 9 ชั่วโมง ซึ่ง 98.7% เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ผ่านสมาร์ทโฟน ใช้งานเฉลี่ยกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่เพียง 43.6% ใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ (PC) ที่เวลาเฉลี่ยเพียงเกือบ 4 ชั่วโมงต่อวัน
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนมีอัตราที่สูงขึ้นคือ การแข่งขันด้านราคาของ Data Plan จากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ได้ปรับตัวลงมาอยู่ในราคาที่ผู้บริโภคจากทุกกลุ่มสามารถจับต้องได้มากขึ้น ราคาของตัวสมาร์ทโฟนเองที่ถูกลง การให้บริการฟรี Wi-Fi ในเขตต่างจังหวัด รวมถึงทางเลือกที่หลากหลายสำหรับการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์นอกเหนือจากการใช้บัตรเครดิตเพียงอย่างเดียวแบบในสมัยก่อน
เมื่อพูดถึงสินค้ายอดฮิตของชาวเน็ตไทย จากการสำรวจของ Nielsen พบว่า 3 อันดับสินค้ายอดนิยมในกลุ่มผู้ชายไทยที่เคยซื้อสินค้าออนไลน์ ได้แก่ สินค้ากลุ่มเสื้อผ้า (63.02%) สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ในบ้าน (22.63%) และสินค้ากลุ่มเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ (21.86%) ในขณะที่กลุ่มผู้หญิงจะเป็น สินค้ากลุ่มเสื้อผ้า (80.58%) สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ในบ้าน (30.42%) และสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง (21.18%)
INCA กลุ่มพัฒนาประสิทธิภาพธุรกิจ Influencer Marketing ด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลที่วัดผลได้ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ กรุ๊ปเอ็ม เผยข้อมูลเชิงลึกในการศึกษาดาต้าและพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่าการใช้ Influencer ในเวลานี้ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค โดยกลยุทธ์นี้มีส่วนช่วยส่งเสริมสินค้าและแบรนด์ทั้งในแง่การสร้างคุณค่าทางด้านอารมณ์ (Emotional Benefit) การรับรู้ (Awareness) และความน่าเชื่อถือ (Credibility & Trust) กล่าวคือผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเกิดความต้องการสินค้าตาม Influencer ที่ตนติดตาม ถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่ควรใช้ควบคู่ไปกับโฆษณาแบบปกติ ซึ่งจะช่วยลดทอนระยะเวลา ขั้นตอน รวมถึงการใช้ตรรกะและเหตุผลที่ซับซ้อนในการตัดสินใจซื้อให้สั้นลง
จากแนวโน้มทั้งหมดที่กล่าวมา นับเป็นสัญญาณที่ดีของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่บรรดานักการตลาด นักโฆษณา รวมถึงผู้ค้า ต้องปรับตัวในแง่ของกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพการโฆษณาให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา หากแต่ตัวโฆษณาและข้อความจะต้องมีความสอดคล้องและน่าสนใจเพียงพอต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่แตกออกเป็นกลุ่มความสนใจที่ชัดเจน อีกทั้งการใช้กลยุทธ์การวางแผนสื่อและเทคโนโลยีอย่างผสมผสานจะสามารถช่วยลดทอนขั้นตอนการตัดสินใจซื้อให้สั้นลง ซึ่งเป็นผลดีต่อแบรนด์ในแง่ของการสร้างยอดขายท่ามกลางคู่แข่งที่เข้ามาร่วมสนามรบอีคอมเมิร์ซอย่างล้นหลามในปัจจุบัน
CONTRIBUTOR
นันท์ทนนท์ กิจเจริญนันน์
Supervisor, Marketing & Development
GroupM Thailand