มีเดียคอม เผยอิทธิพลเทคโนโลยีสร้างเศรษฐกิจออนดีมานด์ (On-Demand Economy)
คนไทยถือว่ามีอัตราการเข้าถึงเทคโนโลยีค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประชากรโลก โดยอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยอยู่ที่ 79% ขณะที่ทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 55% นอกจากนี้คนไทยยังมีโทรศัพท์มือถือใช้เกือบ 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 74% ของจำนวนประชากร อิทธิพลของสมาร์ทโฟนช่วยรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทย ให้เป็นดินแดนแห่งความต้องการ หรือ Land of Demand
บริษัท มีเดียคอม (ประเทศไทย) ในเครือกรุ๊ปเอ็ม บริษัทสื่อสารการตลาดรายใหญ่ เปิดเผยผลวิจัยล่าสุด เรื่อง “The Rise of the On-Demand Economy” พบว่าด้วยอิทธิพลของสมาร์ตโฟนทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็น “On Demand Behaviour” และมีแนวโน้มอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เช่น การจ่ายบิลผ่านมือถือเพิ่มขึ้น 160% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อัตราการใช้โมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้น 67% การซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น 100% เป็นต้น
เอกดนัย ยุกตะนันท์ ผู้อำนวยการแผนกบริหารธุรกิจของมีเดียคอม กล่าวว่า อิทธิพลความสะดวกของสมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนได้ยกระดับรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทย ซึ่งผลสำรวจพบว่าช่วงเวลาที่สร้างความสุขของผู้ใช้สมาร์ทโฟนถูกเปลี่ยนจากการที่เข้าไปมีประสบการณ์กับคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียมาเป็นเลือกซื้อของออนไลน์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
ขณะเดียวกันช่องทางของโซเชี่ยลมีเดียกลับถูกเปลี่ยนเป็นทางเลือกที่สำคัญในการเรียนรู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแทนที่จะเป็นแค่ช่องทางสำหรับความบันเทิงเพียงอย่างเดียว
“เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายที่มากขึ้น มีเดียคอมพบว่าการใช้อีแบงค์กิ้งแทนเงินสดกลายเป็นเรื่องธรรมดาของผู้บริโภค ซึ่งตอนนี้อีแบงค์กิ้งไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็นเครื่องมือซื้อของที่สะดวกสบายเท่านั้น แต่กลายเป็นเหมือนกระเป๋าเงินที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แม้จะเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยก็ตาม”
สำหรับประเภทของแอพพลิเคชั่นที่คนไทยใช้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ แอพพลิเคชั่นด้านบันเทิง ด้านการเงิน และอีคอมเมิร์ซ โดยจากการสอบถามผู้บริโภค โดยพบว่า แอพพลิเคชั่นที่ทำให้เขารู้สึกสนุกในการใช้งาน ได้แก่ ยูทูป ลาซาด้า ช้อปปี้ อินสตราแกรม และเฟซบุ๊ก
ผลสำรวจที่เกิดขึ้นทำให้ได้เห็นวิวัฒนาการของผู้บริโภคชาวไทย ใน 3 ด้านหลักที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม วิวัฒนาการแรก การช้อปปิ้งออนไลน์จากเดิมที่ให้ความสะดวกสบายเป็นหลัก ปัจจุบันให้ความสนุกสนาน ความบันเทิงมากขึ้น และบางครั้งกลายเป็นกิจกรรมของกลุ่ม
วิวัฒนาการด้านที่ 2 ที่ผ่านมารูปแบบ และวิธีการของสื่อโซเชี่ยล มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค แต่ปีนี้สิ่งที่ผลักดันการตัดสินใจซื้อมาจากความรวดเร็วในการตอบโต้กับผู้ซื้อในช่องทางออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับวิวัฒนาการด้านที่ 3 ในการบริโภคเนื้อหาความบันเทิง ที่ผ่านมาจะเน้นเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันนี้เนื้อหาที่ผู้บริโภคต้องการ คือการยกระดับและพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตและเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพ เช่น การเรียนรู้วิธีการทำน้ำผลไม้เพื่อเปิดช่องทางขายออนไลน์ หรือการเรียนภาษาอังกฤษผ่านการรับชมภาพยนตร์ ซึ่งมองว่าได้ผลดีกว่าการไปนั่งเรียนเป็นคอร์สเหมือนที่ผ่านมา
วิวัฒนาการที่ 4 การใช้โมบายแบงค์กิ้ง ทุกวันนี้กลายเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน แม้แต่การใช้เงินซื้อของเพียงเล็กน้อย 5 บาท 10 บาท ผู้บริโภคยังใช้ผ่านระบบโมบายแบงค์กิ้ง
“สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบออน ดีมานด์ เป็นกุญแจสำคัญสำหรับนักการตลาดที่จะพัฒนาการตลาดแบบออนดีมานด์ การสร้างประสบการณ์ ความบันเทิงในการจับจ่ายซื้อสินค้า รวมทั้งการวางกลยุทธ์การตอบสนองลูกค้าแบบทันท่วงที เพื่อช่องทางในการสนทนาระหว่างลูกค้า การนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อทำให้ผู้บริโภครักในแบรนด์นั้นๆ ในระยะยาว”
สุภรณ์ อรุณภาคมงคล กรรมการบริหาร มีเดียคอม (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลกระทบจากความคุ้นชินต่อเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคฉลาดและมีวิธีเลือกรับสารจากดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น การเลือกช่องทางและวิธีการสื่อสารจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการอย่างแท้จริง
แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก (Global Trends) ใน 4 ด้าน ได้แก่
- Gig Economy แนวโน้มการทำงานแบบอิสระ ที่คนทำงานกับเจ้าของธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำสัญญาระหว่างกัน เช่น โมเดลธุรกิจของ Grab คนขับรถแกร๊บไม่ได้เป็นลูกจ้างของบริษัท
- End of Fragmentation Era การสิ้นสุดของยุคแห่งความกระจัดกระจาย เนื่องจากการเข้ามาของระบบคอมพิวเตอร์ เอไอ เทคโนโลยีที่เข้ามาเชื่อมต่อระหว่างกัน หรือ Internet of things ซึ่งในปี 2020 จะมีอุปกรณ์มากกว่า 5 หมื่นล้านชิ้นที่เชื่อมต่อกันได้
- Diruption Education ระบบการศึกษาที่ถูกผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายในห้องเรียน
- C-Commerce อิทธิพลการค้าออนไลน์ของจีนที่แผ่ขยายไปทั่วโลก เช่น ระบบวีแชท วีเพย์ คิวอาร์โค้ด ฟีเจอร์การนำชำระเงินที่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคในการจับจ่ายซื้อสินค้า
“การสื่อสารการตลาดได้เข้าสู่ยุค On-Demand Economy อย่างแท้จริง ที่นักการตลาดต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความเข้าใจ ความสะดวก และสร้างประสบการณ์เชื่อมต่อกับแบรนด์ โดยมีโทรศัพท์มือถือเป็นหัวใจสำคัญ”