บทความจากกรุงเทพธุรกิจ
23 กรกฎาคม 2566
งานสัมมนาการตลาดประจำปีภายใต้ชื่อ GroupM FOCAL 2023 ที่รวมนักการตลาด เอเยนซีมาอัพเดทเทรนด์ใหญ่ประจำปี โดยในหัวข้อ Ahead the Consumer Dynamics & Strategy Mastery ที่มี 6 บริษัทการตลาด ครีเอทีพ และเอเยนซีชั้นนำของไทย มาสรุปเทรนด์ที่แบรนด์ต้องรู้และนำไปปรับใช้
ทั้งจิรวรา วีรยวรรธน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โอกิลวี่ ประเทศไทย, มัวรีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย, คณพร ฮัทชิสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GREYnJ United, อาภาภัทร บุญรอด กรรมการผู้จัดการ คันทาร์ ประเทศไทย, ยุพิน มินซิ่ง ประธานกรรมการบริหาร วีเอ็มแอลวายแอนด์อาร์ ประเทศไทย และปัทมวรรณ สถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย โดย กรุงเทพธุรกิจ ขอสรุปเนื้อหาสำคัญ ดังนี้
หลังโควิด ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ จากก่อนหน้าที่ตลาดออนไลน์จะมีความสำคัญมาก แต่เมื่อโควิดผ่านไปแล้วทำให้กลุ่มลูกค้าอยากได้ประสบการณ์แบบออฟไลน์มากขึ้น และอยากสัมผัสประสบการณ์ในการช้อปปิ้ง ดังนั้นจะต้องทำอย่างไรที่จะนำเสนอการสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ดีให้แก่ลูกค้า
แบรนด์ต้องอย่ายึดติดกับสิ่งเดิมที่เคยสำเร็จ ต้องปรับมายด์เซ็ทตัวเอง และปรับตัวตลอดเวลา เพราะโลกหลังโควิดทำให้ผู้นำในตลาดเปลี่ยนแปลงหลายกลุ่มสินค้า ยกตัวอย่าง กลุ่มการเงินและเทคโนโลยี เป็นต้น เนื่องจากหลายธุรกิจไม่ยอมปรับตัวทำให้อยู่ที่เดิม
ในปัจจุบันเทคโนโลยี AI เข้ามามีผลต่อนักการตลาดและหลายกลุ่มธุรกิจ จึงเข้าสู่ยุค AI Era ไปแล้ว พร้อมสร้างโอการให้นักการตลาดและนักโฆษณามีเครื่องมือมากขึ้นในการทำการตลาด แต่ในอีกด้านไม่ควรตกเป็น “ทาสของเทคโนโลยี” สิ่งสำคัญคือ แบรนด์ต้องมีความเข้าใจผู้บริโภคมากที่สุด และแบรนด์ต้องทำตัวให้เป็น “มนุษย์” ที่เข้าใจกลุ่มลูกค้าและอยากเป็นเพื่อนกับลูกค้า ต้องการมอบสิ่งนี้ให้แก่ลูกค้า ทั้งหมดถือเป็นการวัดความสำเร็จของแบรนด์และทำให้สามารถเป็นผู้นำได้ตลอด
เราจะไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมที่สำเร็จ ต้องปรับมายด์เซ็ทตัวเอง มีเทคโนโลยีทุกอย่างเข้ามา หากไม่รับ ไม่ปรับตัว เราจะไม่มีที่ยืน
ที่สำคัญที่สุด อย่าตกเป็นทาสเทคโนโลยี เพราะแบรนด์มีความเป็นมนุษย์ใช้กับมนุษย์ และจะต้องเป็นผู้นำเกมเสมอ
คอนเทนต์ต้องครีเอทีฟ ร่วมปลุกพลังความหวังผู้คน
การสร้างคอนเทนต์สู่กลุ่มลูกค้า แบรนด์ต้องเข้าใจว่ากลุ่มลูกค้าเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก และคอนเทนต์แบบสั้นคือสิ่งที่กำลังมาแรง ดังนั้น การสร้างคอนเทนต์ต้องมาจากการเก็บดาต้า และการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและนำเสนอคอนเทนต์ที่มีความสร้างสรรค์ พร้อมนำเสนอความคุ้มค่า ความห่วงใย ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกประทับใจในการรับชม เกิดความหวัง และสามารถเข้าไปตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ รวมถึงทำให้ลูกค้ารับรู้ได้ว่า การตัดสินใจซื้อเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีความโปร่งใส แต่หากไม่ตอบโจทย์ แบรนด์จะถูกผู้บริโภคทิ้งไว้ข้างหลัง
อีกทั้งเมื่อสร้างแคมเปญการตลาดออกมาแล้ว ทั้งหมดจะต้องตอบโจทย์เป้าหมายของแบรนด์ให้ได้ และต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม โดยไม่ได้วัดจากยอดขายเพียงอย่างเดียว
Happiness is Now คนหาความสุขตอนนี้เพราะอนาคตคือสิ่งที่ไม่แน่นอน
สำหรับ 3 เทรนด์ของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นคือ Health ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและจิตใจ ที่ต้องแข็งแรงไปด้วยกันทั้งภายในและภายนอก ต่อมา Happiness เนื่องจากคนเจ็บป่วยจากอดีตเพราะโควิด จึงต้องการความสุขในปัจจุบัน Happiness Now เพราะอนาคตไม่แน่นอน และ Hope ภายหลังโควิด คนต้องการความรู้เพิ่มขึ้น ต้องการเปลี่ยนแปลวตัวเองให้สวยขึ้นและอยากรวยขึ้น และมองว่าทุกอย่างเป็นไปได้
แม้ว้าเทรนด์ที่เป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องติดตามและเข้าใจถึงเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่อย่าตามเทรนด์เสมอ เนื่องจากตลาดเปลี่ยนใหม่ การเก็บข้อมูลของลูกค้าในช่วง 10 ปีก่อน ที่นำมาจากข้อมูลพื้นฐาน ทั้งเพศ อายุ และรายได้ อาจจะไม่สามารถใช้ได้ในปัจจุบันอีกแล้ว โดยยุคนี้ต้องเข้าใจ Age of Identity หรือตัวตนของลูกค้า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ทั้งพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ มุมมอง รวมถึงในแต่ละช่วงอายุก็มีความต้องการที่ต่างกัน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ สนในเรื่องสิ่งแวดล้อม และคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญในเรื่องความเท่าเทียม เป็นต้น
ทั้งหมดต้องผสมผสาน เพื่อนำไปตอบโจทย์ของ “ผู้บริโภคอยากให้แบรนด์เห็นคุณค่าในตัวตนของเขา” ถือเป็นการสร้าง Sustainability ที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ สามารถสร้างความจริงใจและโปร่งใสให้แก่ลูกค้า
อีกสิ่งคือการมองหาโอกาสเสมอ แม้ว่ายุคนี้จะทำการตลาดยากขึ้นก็ตาม แต่มีเครื่องมือเทคโนโลยีเพื่อให้เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น พร้อมใส่ความสร้างสรรค์ไปในทุกส่วน เพราะนักการตลาดและครีเอทีฟเอเยนซีของไทยมีความโดดเด่นในด้านนี้ และอย่างมองว่าทุกอย่างคือปัญหา ให้ปรับเป็นการคิดว่ามองหาโอกาสใหม่ ๆ เสมอ
รวมถึงเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงใหม่ “การหาพันธมิตร” และคนที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านใหม่ ๆ มาผนึกกำลังสร้างสิ่งใหม่ ก็จะเกิดการ วิน วิน ทั้งคู่ ยกตัวอย่าง Netflix ที่มีภาพยนต์ Hunger คนหิว เกมกระหาย จึงเกิดความร่วมมือกับซอส Roza สู่การสร้าง “ซอสผัดงอแง” ช่วยสร้างสรรค์สิ่งใหม่สู้ผู้บริโภค เป็นต้น ส่งผลต่อการเติบโตไปด้วยกัน และสร้างความสำเร็จให้แก่แบรนด์