Alumni Market: Connection เก่า – Opportunity ใหม่

สำหรับช่วง 1 เดือนที่ผ่านมากับปรากฎการณ์ LOCKDOWN ที่ผู้บริโภคไทยต่างพากันใช้ชีวิตไปกับการอัพเดทข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ตลอดทั้งวัน พฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำเดิมเรื่อย ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากการออกไปไหนไม่ได้นี้เริ่มทำให้ผู้บริโภคหลาย ๆ คนเริ่มเกิดความเบื่อและมีความเครียดสะสมและเริ่มที่จะหาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับตัวเองบนโลกโซเชียลผ่านกระแสการสร้างกลุ่มศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษา (Alumni) บน Facebook

การเกิดขึ้นของ Alumni Market/Marketplace หรือตลาดการค้าสำหรับศิษย์เก่ากลายเป็นคลื่นระลอกใหญ่บนโลกโซเชียลที่สามารถปลุกหัวใจของหลาย ๆ คนให้ได้กลับมาสนุกและเฮฮาอีกครั้ง

 

บรรดาศิษย์เก่าจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนมัธยม รวมไปถึงบรรดานักกิจกรรมต่างพากันสร้างกลุ่มใน Facebook และเปิดให้เป็นตลาดเสรี โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อเปิดโอกาสให้บรรดาศิษย์เก่า (ที่อาจกำลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากวิกฤติไวรัสโคโรน่า) ได้มีโอกาสกลับมารวมตัวพร้อมทั้งโพสต์ขายสินค้าและบริการแบบหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะของกินของใช้ สัตว์เลี้ยง ไปจนถึงผลงานของบริษัทที่กำลังทำงานอยู่ เรียกได้ว่ามีขายกันแทบทุกอย่าง

 

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ Alumni Market(place) เหล่านี้คือแม้จุดประสงค์หลักในช่วงแรก ๆ จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ศิษย์เก่าได้มีโอกาสทำการค้าขายในหมู่เพื่อนฝูงและพี่น้องร่วมสถาบันที่ได้รับผลกระทบหรือมีข้อจำกัดในการทำมาหาเลี้ยงชีพจากการ Lockdown

 

แต่ในช่วงระยะเวลาที่กลุ่มได้โตขึ้น (อย่างรวดเร็ว) การแลกเปลี่ยนจึงไม่จบเพียงแค่การซื้อขายกันเพื่อการค้าเพียงอย่างเดียว สังเกตได้ว่า Alumni Market(place) เหล่านี้ได้กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับเพื่อน ๆ และรุ่นพี่รุ่นน้องได้เข้าทักทายแนะนำตัว พูดคุย และต่อยอดไปถึงการเชียร์การขายกันอย่างสนุกสนาน จนเรียกได้ว่านี่คืองานคืนสู่เหย้าแบบกลาย ๆ

 

จากการสังเกต การเติบโตของจำนวนสมาชิกของแต่ละกรุ๊ปนั้นเกิดขึ้นรวดเร็วมากในระยะเวลาอันสั้น จากหลักสิบสู่หลักหมื่นหรือบางกลุ่มก็ขึ้นไปถึงหลักแสนภายในระยะเวลาไม่กี่วันเท่านั้น

 

โดยการนับข้อมูลในวันที่ 17 เมษายน – 5 อันดับ Alumni Market(place) ของสถาบันในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในเวลานี้ ได้แก่

 


จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส (5 วัน – 159k คน)

 


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน (9 วัน – 125k คน)

 


KU จะฝากร้าน (4 วัน – 50k คน)

 


Silpakorn Online Market: ชีวิตสั้น ฝากร้านกันยาวๆ (3 วัน – 29k คน)

 


ชาวมหิดลเปิดแผง (4 วัน – 23k คน)

 

ทั้งนี้ยังมี Alumni Market(place) ของมหาวิทยาลัยจากส่วนภูมิภาคที่น่าจับตามองก็คือ


กาดหมั้วซั่วแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (4 วัน – 36k คน)

 

ซึ่งหากดูตามเนื้อหาที่โพตส์แล้วสิ่งที่บรรดาชาวเน็ตโพสต์ในกลุ่ม Alumni Market(place) ที่เป็นที่นิยมอันดับ 1 คือ อาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ส่วนอันดับถัดมาจะเป็นการโฆษณาและการแนะนำธุรกิจบริการต่าง ๆ และอันดับ 3 คืออุปกรณ์สำหรับรับมือสถานการณ์ COVID-19

 

อย่างไรก็ดีพฤติกรรมการโพสต์ของสมาชิกในแต่ละกลุ่มก็จะมีความแตกต่างกัน เริ่มกันตั้งแต่ประเภทและความหลากหลายของสินค้าที่โพสต์ ภาษาที่ใช้ รวมไปถึง (ประวัติของ) คนที่เข้ามาโพสต์ ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงลักษณะตัวตนหรือความเชี่ยวชาญของแต่ละสถาบันอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น

 

จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส ของนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทางเนื้อหาการนำเสนอจะมีความออกมีีความออกเป็นทางการ ส่วนสินค้าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพทย์ บริการให้ความรู้และการให้คำปรึกษา แต่จริง ๆ แล้วจะเริ่มมาจากการขายของกินและอุปกรณ์รับมือกับไวรัสโคโรน่า

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน ของนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โทนและความรู้สึกสำหรับผู้อ่านจะเป็นเรื่องที่สนุกทันสมัย จะมีเรื่องแฟชั่นเสื้อผ้า ร้านอาหาร/คาเฟ่ สื่อมวลชน/ผู้สื่อข่าว/โฆษณา ธุรกิจของบริษัทที่ทำงาน สุขภาพและความงาม เรียกว่าได้แทบจะทุกอย่าง

 

KU จะฝากร้าน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นเกษตรแฟร์ ดังนั้นเราจะเห็นสินค้าที่เกี่ยวกับการเกษตรและต้นไม้ต่าง ๆ มาขาย

 

Silpakorn Online Market: ชีวิตสั้น ฝากร้านกันยาวๆ ของชาวศิลปากรจะมีการดึงเรื่องของหนังสือ งานศิลปะ และงานคราฟท์ต่าง ๆ

 

โดยที่ 2 อันดับของ Alumi Market(place) นั่นคือจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากวงการต่าง ๆ ทั้ง ดารา นักแสดง ผู้บริหารบริษัทข้ามชาติ หรือแม้กระทั่งนักการเมือง กระโดดเข้ามาโพสต์ทั้งเพื่อโปรโมทสินค้าหรือเข้ามาสร้างความสนุกสนานให้กับสมาชิกอีกด้วย



 

โดยสรุปคือ Alumni Market(place) ในเวลานี้เป็นถือเป็นเสน่ห์และเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับศิษย์เก่าทั้งหลายที่จะแนะนำสินค้า ธุรกิจ หรืองานสาขาที่ตัวเองทำอยู่ผ่านมุมมองและข้อความที่สร้างสรรค์และน่าจับตา (จนถือเป็นการแข่งขันทางด้าน Content Creativity ไปกลาย ๆ) ให้รุ่นพี่รุ่นน้องได้รู้จักและได้ช่วยเหลือกันในยามนี้ อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่สมาชิก (รวมทั้งบุคคลภายนอก) สามารถเข้ามาส่องโพสต์ต่าง ๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งความบันเทิงที่หลาย ๆ ท่านสามารถใช้เวลาในแต่ละวันนับเป็นชั่วโมงในการไถและไล่อ่านทั้งตัวโพสต์และคอมเมนท์ในยามที่สังคมกำลังอยู่ในภาวะความเครียดและความกดดันได้อีกด้วย

อีกสองมุมมองที่พวกเราตั้งเป็นคำถามที่น่าสนใจสำหรับอนาคตของบรรดา Alumni Market(place) เหล่านี้ก็คือ สิ่งเหล่านี้จะเป็นจะเป็นเพียงแค่ความนิยมในช่วงสั้น ๆ เพื่อความบันเทิงหรือคลายความเบื่อจากสถานการณ์ Lockdown หรือไม่?

และถ้าหากช่องเหล่านี้ยังคงได้รับความสนใจต่อเนื่องไปในอนาคต Alumni Market(place) จะสามารถขยายความสามารถของตัวเองออกไปจากการเป็นชุมชนออนไลน์ หรือ Online Community สู่การทำกิจกรรมจริง ๆ หรือ Offline Activitiy อย่างเช่นการรวมตัวกันเพื่อทำอีเวนท์หรือกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างอื่นได้หรือไม่ – และนักการตลาดหรือแบรนด์จะสามารถหาช่องทางที่จะกระโดดเข้ามาเพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ดีหลังจากวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างไร?

 

การประกาศขายสัตว์ที่สามารถสร้างความฮือฮาบนโลกโซเชียล

การโพสต์สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เช่นการประกาศตามหารักแท้แต่โบราณ หรืิอ หลวงพี่เชิญชวน

 

การแนะนำธุรกิจ

 

ฝั่งมหาวิทยาลัยเอกชนก็ไม่ยอมแพ้มีทั้งการแนะนำธุรกิจและการปล่อยสินค้าแบบที่เข้าใจกันในเฉพาะวงมหาวิทยาลัย

CONTRIBUTOR

แพน จรุงธนาภิบาล / Pan Jroongtanapibarn
Associate Director – Marketing & Development, GroupM Thailand
Pan.Jroongtanapibarn@groupm.com
นักศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค นักการตลาด และผู้ชื่นชอบการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจ

The Latest

X