กรุ๊ปเอ็ม เผยพฤติกรรมผู้บริโภคยุคโควิดเปลี่ยนไป
กังวลเรื่องรายได้ ใช้ดิจิทัลทำงานหาเงิน พร้อมแนะ 4 สิ่งที่แบรนด์ต้องปรับเพื่อมัดใจลูกค้า
Article by BrandBuffet
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการมาของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และทุกธุรกิจอย่างมหาศาล ทั้งยังทำให้พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนไปสู่ New Normal ทั้งด้านการใช้ชีวิต การทำงาน ตลอดจนการดูแลสุขภาพ และถึงแม้ปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยจะเริ่มดีขึ้น แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงกังวลใจ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่แบรนด์ต้องขบคิดว่าพฤติกรรมผู้คนจากนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) จึงสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในหัวข้อ “2020 Consumers Untold” เพื่ออัพเดท อินไซท์ (Insights) พฤติกรรม ทัศนคติในการใช้ชีวิต การรับสื่อ รวมถึงการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภค ทั้งก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมแนะกลยุทธ์ที่แบรนด์และนักการตลาดต้องรับมือกับวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่เกิดขึ้น
โควิดทำผู้บริโภคกังวลรายได้-งาน หันใช้ดิจิทัลสร้างรายได้ใหม่
ด้านการใช้ชีวิต จากผลสำรวจพบว่า ช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้บริโภคมี ความวิตกกังวล ต่อความปลอดภัยและความไม่แน่นอนในเรื่องการงาน การเงิน ทำให้หลายครอบครัวมีการเรียกลูกหลานกลับมาอยู่รวมกันที่บ้านซึ่งดีกว่าอยู่กับคนหมู่มาก ส่งผลให้คนเห็นคุณค่าของสถาบันครอบครัวมากขึ้น และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวดีขึ้น
โดยกลุ่มผู้บริโภควัยกลางคนและผู้สูงวัยจะมีความกังวลในเรื่องสุขภาพ และความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าวัยอื่น ๆ ส่วนวัยรุ่นจะมีความกังวลต่ออนาคตหลังเรียนจบว่าจะมีงานทำไหม และสำหรับกลุ่มวัยทำงานมีความกลัวต่อความมั่นคงในเรื่องรายได้และความเสี่ยงที่จะตกงาน
นอกจากนี้ การเกิดของวิกฤติโควิด-19 ยังทำให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์ การเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้ผู้บริโภคมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้บริโภคเกิดการพัฒนาพฤติกรรมและมีความคุ้นชินกับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ เช่น การทำงานจากที่บ้าน การสวมหน้ากากอนามัย และการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ จนเกิดเป็นความ คุ้นชิน รวมไปถึงเริ่มเสพติดกับความสะดวกสบายที่มากับบริการผ่านระบบดิจิทัลจากแบรนด์ต่าง ๆ ทั้งด้านสินค้าและบริการ ทั้งยังพบอีกว่าคนไทยบางส่วนเกิดแรงบันดาลใจใหม่ ๆ จากการติดตามคอนเทนต์ และใช้สื่อดิจิทัลเป็นช่องทางในการตามความฝัน ตามหาสิ่งที่สนใจ และหารายได้ใหม่
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากปีที่ผ่านมาคือ จากที่คนรุ่นใหม่ต้องการกลับมาช่วยพัฒนาชุมชนตนเอง แต่การเข้ามาของโควิด-19 ทำให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการเอาต้วเองให้รอดก่อน โดยคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีมุมมองจะใช้สื่อดิจิทัลเพื่อหาหรือทำงานที่สามารถสร้างเงินได้ทันที โดยผู้ชายทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดเลือกที่จะขับ Grab เป็นอาชีพเสริมมากขึ้น ขณะที่ผู้หญิงจะนิยมขายสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น ไลฟ์ขายของ ซึ่งจากข้อมูลของ Wisesight พบว่าตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่มีการล็อกดาวน์มีจำนวนการไลฟ์เยอะขึ้นอย่างมาก อัตราการไลฟ์เริ่มมีการลดลงหลังมาตรการคลายล็อกแต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าในช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด โดยสินค้าที่ขายพบว่ามีความหลากหลายมากขึ้น จากความนิยมในเรื่องของสินค้าไอที แฟชั่น และอาหาร แต่ในเวลานี้ขอบเขตของการขายสินค้าออนไลน์ได้ถูกขยายออกมาเป็น อาหารสดพร้อมปรุง ต้นไม้ สัตว์เลี้ยง หรือแม้กระทั่งบ้านและที่ดิน
Out of Home สร้างการรับรู้แบรนด์มากสุด ขณะที่ Twitter กลายเป็นสื่อมาแรง
ด้านการใช้สื่อ ผลการสำรวจพบว่า จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ ทำให้คนไทยเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการถูกปิดกั้นของข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะถูกนำเสนอออกมาบนสื่อหลัก ความกังวลนี้ส่งผลให้ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับข่าวสารและข้อมูลที่ถูกส่งผ่านออกมาทางสื่อดิจิทัลที่มีความรวดเร็วกว่าสื่อหลัก อีกทั้งยังสามารถนำผู้บริโภคไปยังข้อมูลหรือเนื้อหาที่ตนเองให้ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงผ่านการใช้แฮชแท็ก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ Twitter ได้กลายเป็นสื่อดิจิทัลที่มาแรงครองใจคนเกือบทุกกลุ่มในเรื่องการติดตามข่าวมากกว่า Facebook
ในส่วนของคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ ที่ได้รับความนิยมมากสุดคือ Facebook, YouTube, Netflix, TV, LINE TV และ Mello.me โดยมี 2 แพลตฟอร์มหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ WeTV และ TikTok ส่วนคอนเทนต์ประเภทเพลงคนไทยยังติดตาม YouTube, Spotify, JOOX และแอปฯ ฟังวิทยุออนไลน์ ทว่าคอนเทนต์ที่เพิ่มขึ้นมามากขึ้นคือ เว็บไซต์เกี่ยวกับคอนเทนต์การ์ตูน โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้บริโภควัยทำงานและวัยผู้ใหญ่
แต่ที่น่าจับตามองคือ สื่อโฆษณานอกบ้าน (Out of Home) เป็นสื่อที่สามารถสร้างการรับรู้แบรนด์มากสุด ตามมาด้วยสื่อดิจิทัลอื่น ๆ อย่าง Facebook, TV, YouTube, JOOX และ Instagram
นอกจากนี้ การสำรวจยังพบอีกว่า คอนเทนต์ที่เป็นภาษาถิ่นทั้งในรูปแบบละครและเพลงประกอบละครเป็นที่นิยมจากผู้บริโภคในต่างจังหวัดมากขึ้น ยิ่งหากให้ดารานักแสดงได้ใช้ภาษาถิ่นในคอนเทนต์ก็จะยิ่งได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังพบว่า คนไทยหันมาดูคอนเทนต์ผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น และมีพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์แบบ Cross Content โดยเริ่มหาคอนเทนต์อื่น ๆ ที่มีความน่าสนใจและแปลกใหม่ในเรื่องของเนื้อหาและการนำเสนอ โดยคอนเทนต์จากต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี หรือแม้แต่อินเดีย กำลังเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม พฤติกรรมนี้สอดคล้องกับข้อมูลจาก Tencent ที่พบว่ากว่า 50% ของผู้ที่ดูละครฉลาดเกมส์โกง The Series บน WeTV เข้าดูคอนเทนต์จากประเทศจีนต่อ
คนไทยคิดหนักและวางแผนใช้จ่ายมากขึ้น
ส่วนเรื่องการเงิน จากผลกระทบที่มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญให้ผู้บริโภคต่างระบุว่า มีการวางแผนในเรื่องการใช้เงินมากขึ้นกว่าเดิม ต้องมีเงินสดติดตัวไว้เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ดังนั้น แผนการซื้อสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยและมีราคาสูงอย่างโทรศัพท์มือถือหรือรถมอเตอร์ไซค์ จะถูกเลื่อนออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภค คนไทยจะมองหาสินค้าที่มีขนาดหรือปริมาณเล็กลง มีการเปรียบเทียบราคาสินค้าสลับไปมาทั้งออฟไลน์และออนไลน์เพื่อให้ได้มาซึ่งราคาคุ้มค่าที่สุด โปรโมชั่นลดราคาประจำเดือนจากมาร์เก็ตเพลสอย่าง 9.9 หรือ 11.11 นับเป็นเทศกาลที่ผู้บริโภคต่างเฝ้ารอเพื่อที่จะซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง
โดยสิ่งที่ผู้บริโภคจะซื้อในทางช่องทางออฟไลน์คือ อาหารสดหรือสิ่งของที่ต้องใช้ตอนนั้น เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนการสั่งซื้อออนไลน์จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปหรือของที่มีน้ำหนักมากเพราะไม่ต้องการถือกลับมาเอง เช่น น้ำดื่ม อาหารกระป๋อง แชมพูสระผม ฯลฯ ในส่วนของสินค้าที่ค่อนข้างมีราคา ต้องใช้มากๆ หรือบ่อย ๆ เช่น นมสำหรับเด็ก ผ้าอ้อม เครื่องปรุงอาหาร แม้จะยังใช้ไม่หมด แต่หากมีโปรโมชั่นที่คุ้มราคา ก็พร้อมจะซื้อเพื่อตุนของไว้ก่อนไม่ว่าจะเป็นแบบออนไลน์หรือออฟไลน์
นอกจากนี้ คนไทยยังมองว่า หวยเป็นทั้งความหวังและความสนุก เพราะเป็นช่องทางลัดที่สามารถทำให้รวยและมีเรื่องได้คุยกับคนอื่นได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในปีนี้คือ คนไทยหันมาตรวจรางวัลจากช่องทางออนไลน์อย่าง Sanook.com ผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก จากปกติจะตรวจผลทั้งแบบออนไลน์และจากหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ คนไทยยังคงชอบดูดวง การเสี่ยงเซียมซี และการดูเลขมงคล เพราะเป็นเสมือนพลังที่ให้ความหวังในการดำเนินชีวิต
แนะ 4 กลยุทธ์แบรนด์รับมือพฤติกรรมผู้บริโภคยุคโควิด
จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่คิดหนักมากขึ้นเพราะมีเงินที่จะจับจ่ายน้อยลง ขณะที่มีสื่อในมือมากขึ้น ทำให้แบรนด์และนักการตลาดจึงจำเป็นต้อง
1. เข้าถึงและปิดการขายให้ไว เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคตัดสินใจจบการซื้อให้เร็วที่สุด
2. หาพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญในการใช้ Data เพราะทุกกิจกรรมของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ในตอนนี้สามารถนำมาเป็นข้อมูลและนำมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อวางแผนการตลาดได้
3. เลือกใช้อินฟูลเอนเซอร์ให้ถูกกับคอนเทนต์ เพราะยุคนี้ใครๆ ก็เป็นอินฟูลเอนเซอร์ได้ สิ่งที่จะทำให้แบรนด์นำหน้าคู่แข่งได้ก็คือ การนำ Data มาออกแบบและวางแผนคอนเทนต์ร่วมกับอินฟูลเอนเซอร์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
4. อย่าละเลยการสร้างแบรนด์ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถจดจำในระยะยาว
บทความโดย ฺฺBRANDBUFFET เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563