สำหรับตอนที่ 12 ของ MarTech Podcast ระหว่าง กรุ๊ปเอ็ม และ Marketing Oops! คุณณีว มาวิจักขณ์ และ คุณแพน จรุงธนาภิบาล จะนำผู้ฟัง (และผู้อ่าน) ไปสู่อินไซต์และโลกของคนช่างหาหรือ การเสิร์ช ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมากับอินเตอร์เน็ตตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม จนเราสามารถเรียกได้ว่าพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลหรือการเสิร์ช (Search) ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภคทั้งคนกรุงเทพและต่างจังหวัด
การเสิร์ชหาข้อมูลนับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นของการใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการดูข่าว หรือการหาความบันเทิงต่าง ๆ จนหลาย ๆ ครั้งเรามักจะลืมไปว่าการเสิรช์ในทุกวันนี้นั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่กับ Search Engine อย่าง Google อีกแล้ว หากแต่การเสิร์ชนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาผ่านการพิมพ์คำหรือข้อความบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างเช่น Facebook Instragram
นี่คือจุดที่ทำให้เราสามารถพูดได้ว่าผู้บริโภคในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนสภาพจากที่เคยเป็นฝ่ายรับสารเพียงอย่างเดียวเป็นฝ่ายรุกหรือเป็นผู้ที่วิ่งเข้าไปหาในสิ่งที่เขาสนใจ และน่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับนักการตลาดที่จะต้องเข้าใจถึงอินไซด์สำหรับผู้บริโภคในยุคหลังจาก 4.0 ที่ว่าจากการที่ภาพรวมของธุรกิจสื่อที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะเลือกรับข่าวสารและหาข่าวสารได้ด้วยตนเอง และผู้บริโภคก็จะมีความเชื่อมั่น (และความฟินในภาษาชาวบ้าน) ในข้อมูลที่หาได้ด้วยตัวเองมากกว่าข้อมูลที่ถูกพูดออกมาจากเจ้าของสินค้าโดยตรง
4 ประเภทของพฤติกรรมการเสิร์ช
การเสิร์ชเพื่อหาข้อมูลการบริการ
การเสิร์ชเพื่อหาข่าวสาร
การเสิร์ชเพื่อหาความบันเทิง
การเสิร์ชเพื่อหาความรู้
สิ่งที่น่าสังเกตคือผู้บริโภคในปัจจุบันสามารถปรับการเสิร์ชจากการพิมพ์บน Search Bar มาเป็นการหาข้อมูลในสิ่งที่ตัวเองสนใจผ่านแฮชแทคบน Twitter มากขึ้น
เจาะช่องทางหลักการเสิร์ชของคนไทย
ข้อมูลเกี่ยวกับข่าวสาร
โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Twitter ได้กลายมาเป็นสองช่องทางหลักในการหาข้อมูลเกี่ยวกับข่าวสาร โดยกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเด็กนักเรียนจะนิยมใช้แพลตฟอร์ม Twitter ที่มาพร้อมกับความกระชับฉับไว
ในขณะเดียวกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะให้ความสนใจกับแพลตฟอร์ม Facebook กับเนื้อข่าวที่มีความซับซ้อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สามารถเห็นความคิดเห็นของคนอื่น ๆ ได้
ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการ
ปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคมีความนิยมที่จะใช้แอฟพลิเคชั่นที่เฉพาะเจาะจง เช่น แอฟพลิเคชั่นการสั่งอาหาร แอฟพลิเคชั่นการเงินการธนาคาร แต่ถ้าหากเป็นผู้บริโภคที่อยู่นอกพื้นที่ให้บริการของแอฟพลิเคชั่น ก็จะมีการเสิร์ชผ่าน Search Engine หรือ Facebook Group ด้วย Keyword ที่ระบุสถานที่หรือพิกัดลงไปเลย
ข้อมูลเกี่ยวกับความรู้
หากเป็นความรู้ที่เป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไป ผู้บริโภคจะใช้เสิร์ชผ่าน Google แต่ถ้าต้องการความรู้ที่มาพร้อมกับความคิดเห็นของผู้อื่น โซเชียลแพลตฟอร์มอย่าง Facebook ก็จะกลายมาเป็นสิ่งที่ถูกเลือกใช้
และถ้าหากผู้บริโภคต้องการเรียนรู้ในสิ่งที่ซับซ้อนขึ้น การค้นหาผ่าน YouTube จะได้รับความนิยมเนื่องจากสามารถแสดงและยกตัวอย่างการสอนให้เห็นเป็นภาพได้อย่างเป็นขั้นตอนที่มีความละเอียด
จุดสำคัญสำหรับแบรนด์คือนอกจากความเข้าใจในเรื่องของพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคแล้ว นักการตลาดหรือนักวางแผนกลยุทธ์ยังต้องมีความเข้าใจอย่างแท้จริงในบริบทของตนเองว่าตัวแบรนด์นั้นต้องการที่จะเข้าไปอยู่ในชีวิตส่วนใดของผู้บริโภค
เมื่อมีความเข้าใจแล้วทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์จึงจะสามารถวางแผนที่จะนำแบรนด์ไปอยู่ในช่วงการเสิร์ชหรือการค้นหาได้อย่างถูกบริบทหรือรูปแบบ ทั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดจนเกินไป